Blynk ฉบับ Kidbright IDE ด้วยบอร์ด OpenKB และบอร์ด kidBright

บอร์ด OpenKB หรือ kidbright จะใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ ESP32 แน่นอนว่าสามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตเพื่อสื่อสารข้อมูลและสร้างเป็นระบบ IoT หรือ Internet of Things ได้ แต่ว่าคุณสมบัติ IoT ของซอฟต์แวร์ kidbright IDE จะมีข้อจำกัดการใช้งานอยู่บ้าง

ตัวอย่างการใช้งาน IoT บน kidbright IDE

ตัวอย่างโค้ดเมื่อใช้งาน IoT กับ kidBright IDE

และสำหรับระบบ IoT ที่มือสมัครเล่นนิยมใช้กันมากที่สุดมีชื่อว่า Blynk

แนะนำให้รู้จักกับ Blynk

Blynk เป็นแพลตฟอร์ม IoT ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ของเรากับคลาวด์ แอพถูกออกแบบเพื่อควบคุมและจัดการฮาร์ดแวร์ต่างๆ ได้อย่างหลายหลาย โดยฮาร์ดแวร์กว่า 400 แบบที่ใช้งานได้ทันทีด้วย Blynk Cloud ที่รวดเร็วและโอเพ่นซอร์ส เชื่อมต่อได้อย่างง่ายดายผ่าน WiFi, LTE, 2G-4G หรือ Ethernet วิดเจ็ตที่ออกแบบไว้เพื่อใช้งานกับแอพบน iOS และ Android สามารถควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตรวจสอบข้อมูลเซ็นเซอร์ รับการแจ้งเตือนและอีกมากมาย

สิ่งที่ต้องมีเมื่อใช้ Blynk

1 SmartPhone ต้องเป็น Android หรือ Iphone IPAD เท่านั้น ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้

2. สำหรับฮาร์ดแวร์ IoT ก็ต้องเป็นบอร์ดควบคุมที่มี WiFi ในตัว สำหรับ kidBright IDE ก็ใช้กับ OpenKB และ kidBright

 

 

3. แน่นอนว่าการจะเป็นระบบ IoT ได้นั้นสำคัญสุดเลยคือต้องมีอินเตอร์เน็ต ในที่นี้ WiFi เป็นตัวเลือกในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่สะดวกที่สุด

Blynk ทำงานอย่างไร

จากรูปจะเห็นว่าแอพ Blynk บน SmartPhone ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตโดยตรง จะมีส่วนคั่นกลางคือ Blynk Server สำหรับฮาร์ดแวร์ IoT จะต้องเขียนโปรแกรมเพื่อติดต่อกับ Blynk Server เช่นเดียวกัน เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายก็ต้องพึ่งพาไลบรารี่ โดยสำหรับ kidbright IDE จะต้องมี Plugins เพิ่ม

การติดตั้งและใช้งานแอพ Blynk

ขอแนะนำเฉพาะส่วนของ Android สำหรับ iOS ก็จะมีหน้าตาคล้ายๆ กัน

ใน Android เปิด Play Store ในช่องค้นหาพิมพ์ Blynk

จะพบแอพชื่อ Blynk ลักษณะดังรูป กดติดตั้งจนจบขั้นตอน และเปิดแอพ Blynk ขึ้นมา

ถ้าใช้งานครั้งแรกจะต้อง Create New Account หรือ Log In with Facebook สำหรับการ Login ด้วย Facebook จะต้องแน่ใจว่าจำ Email ของ Facebook ได้ เนื่องจาก Blynk จะส่ง Token (รหัสการเข้าถึงไปให้ใน Email)

เมื่อกรอก Email และ Password เรียบร้อยแล้วให้กด Sign Up

ทาง Blynk จะแจ้งว่า Widget แต่ละตัวจะมีค่าพลังงาน โดยถ้าลบ Widget ออกจะได้พลังงานกลับคืนมา พลังงานมีจำกัด แต่ถ้าต้องการเพิ่ม เรา (Blynk) มีขาย อ่านจบก็กดปุ่ม Cool ด้านล่างได้เลย

หน้าแรกของแอพก็จะโล่งๆ แบบนี้ ให้กด New Project เพื่อสร้างงานใหม่ขึ้นมา

ที่หน้าต่างสำหรับสร้าง Project

ให้ตั้งชื่อ (ในที่นี้ใช้ชื่อว่า OpenKB IoT 01)

เลือกอุปกรณ์เป็น ESP32 Dev Board

เลือกรูปแบบการเชื่อมต่อเป็น Wi-Fi

สำหรับ THEME มีดำกับขาว แล้วแต่สะดวก

สุดท้ายกด Create เพื่อสร้าง Project

Blynk แจ้งว่าได้ส่ง Token ไปยัง Email ที่เราได้ลงทะเบียนไว้ รับทราบ กด OK

เราจะได้หน้าจอว่างๆ สำหรับให้วาง Widget ที่ต้องการ

เพื่อต้องการเพิ่ม Widget ให้กดที่ว่างๆ กลางจอหรือกดที่เครื่องหมาย + ด้านบนก็ได้ เพื่อเปิด Widget Box แสดง Widget ต่างๆ ออกมา พร้อมทั้งค่าพลังงานที่เหลือของเราด้วย โดย Blynk จะให้เรามา 2000

Widget ตัวแรกที่จะวางคือ Button กดเลือกวางได้เลย

กดค้างไว้ที่ปุ่ม จะสามารถปรับขนาดของปุ่มได้ ให้เลื่อนปรับให้เต็มหน้าจอ

กด 1 ครั้งที่ปุ่ม เพื่อเข้าหน้าต่างการกำหนดค่าของปุ่ม ที่หน้าต่างตั้งค่า

เปลี่ยนชื่อเป็น สวิตช์ 1

OUTPUT ให้สั่งการ Virtual Pin ขา V0

สำหรับหัวข้อ Design เปลี่ยนสีและขนาดตัวอักษรได้ตามต้องการ

ด้านล่างสุดเป็นรูปถังขยะ ไว้สำหรับลบปุ่มนี้ออกถ้าไม่ใช้งาน ไม่ต้องกด

เสร็จเรียบร้อยกด BACK กลับมาที่หน้าจอหลักจะได้หน้าจอประมาณนี้

พักหน้าจอเอาไว้ ไปดูในส่วนของ kidBright IDE กันบ้าง

การเพิ่ม Plugins Blynk สำหรับ kidBright IDE

ดาวน์โหลด Plugins

ก่อนอื่นต้องขอบคุณ คุณสนธยา จาก IOXHOP ที่ทำ Plugins ดีๆ ออกมาเยอะเลย รวมถึง Plugins Blynk ตัวนี้ด้วยที่ทำให้เรื่อง IoT เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้

เข้ามาที่หน้า https://store.kidbright.info/ เพื่อดาวน์โหลด Plugins Blynk

เมื่อคลิกที่ Icon จะเข้าสู่หน้าต่างแนะนำการใช้งาน มีลิงก์ให้โหลดไฟล์อยู่ด้านล่าง กดดาวน์โหลดที่ลิงก์ได้เลย https://store.kidbright.info/download/80/blynk_plugin_v1.0.zip

หลังจากดาวน์โหลดจะได้เป็นไฟล์ .zip ที่ชื่อ blynk_plugin_v1.0.zip

ติดตั้ง Plugins บน kidBright IDE

เปิดโปรแกรม kidBright IDE เลือกที่เมนู Plugins > Install Plugins

เลือกไปที่ไฟล์ blynk_plugin_v1.0.zip ที่ดาวน์โหลดมาแล้ว

โปรแกรม kidBright IDE จะเริ่มขั้นตอนการติดตั้ง จากนั้นจะปิดโปรแกรมแล้วเปิดใหม่ด้วยตนเองอีกครั้ง เมื่อเปิดขึ้นมาใหม่ ชุดคำสั่งในส่วน Plugins จะมีคำสั่งในหัวข้อ Blynk เพิ่มขึ้นมา

ชุดคำสั่งของ Plugins Blynk

คำสั่งเริ่มต้นการเชื่อมต่อกับ Server ของ Blynk โดยจะต้องระบุค่า Token ซึ่งแอพ Blynk ส่งให้เราทาง Email โดยคำสั่งนี้จะทำการเชื่อมต่อ WiFi และเชื่อมต่อกับ Server ของ Blynk ให้เราจนจบขั้นตอน

คำสั่งเริ่มต้นการเชื่อมต่อกับ Server ซึ่งสร้างขึ้นเอง โดยจะต้องระบุค่า Token ตำแหน่งที่ตั้งของ Server และพอร์ตที่ใช้งาน

เมื่อข้อมูลถูกส่งมาที่ Virtual Pin ตำแหน่งที่กำหนด (ในรูปเป็น Virtual Pin V0) จะกระตุ้นให้บล็อกนี้ทำงาน โดยสามารถวางบล็อกแบบนี้หลายๆ ชุดและแยกกันทำงานได้

คำสั่งรับข้อมูลเข้ามา โดยเลือกรูปแบบในการรับข้อมูลได้ 3 รูปแบบคือ เป็นตัวเลขจำนวนเต็ม เป็นตัวเลขฐานสิบ และเป็นข้อความ

คำสั่งส่งค่าข้อมูลไปยังแอพ Blynk ในตำแหน่ง Virtual pin ที่ต้องการ การส่งข้อมูลควรเว้นระยะห่าง 0.1 วินาทีเป็นอย่างน้อย

ตัวอย่างที่ 1 กดปุ่มที่แอพ Blynk เพื่อส่งเสียงออกลำโพง

กำหนดค่าการเชื่อมต่อ WiFi

คลิกที่สัญลักษณ์ WiFi ตามรูป

ระบุ User และ Password ของ WiFi ที่ใช้พร้อมทั้งเลือก Enable IoT ด้วย โดยเมื่อกำหนดค่าแล้ว หลังจากโหลดโปรแกรม การกำหนดค่า WiFi จะถูกส่งไปพร้อมๆ กับการโปรแกรมโค้ดให้กับ OpenKB หรือ kidBright

เขียนโค้ดฝั่ง kidBright IDE พร้อมป้อนค่า Token

ตรวจสอบ Email ที่ส่งมาจาก Blynk ทำการคัดลอกรหัสในส่วน Auth Token มาเก็บไว้

นำบล็อก Blynk begin token: วาง ในช่องว่างด้านขวา ให้ใส่ค่า Token ที่คัดลอกเอาไว้

วางบล็อก Blynk on Virtual Pin (V0) data received

ภายในทำการตรวจสอบค่าที่ส่งมาว่ามีค่าเท่ากับ 1 หรือไม่ ถ้าใช่ให้ส่งเสียงออกลำโพง

เสร็จเรียบร้อยให้ดาวน์โหลดโค้ด ไปยัง OpenKB หรือ kidBright

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดหลังจากดาวน์โหลดโค้ดเสร็จสิ้น LED แสดงสถานะ WiFi และ IoT จะต้องติดสว่าง

 

ฝั่งแอพ Blynk ให้กด Run (มุมบนด้านขวา) ให้ทำงาน เมื่อกดที่สวิตช์บอร์ด OpenKB หรือ kidBright จะมีเสียงออกลำโพง

ตัวอย่างที่ 2 สร้าง GAUGE สำหรับอ่านค่าแสง

ฝั่งแอพ Blynk

จากตัวอย่างที่ 1 ส่วนของแอพ Blynk ให้เพิ่ม GAUGE เข้าไปที่หน้าจอ

คลิกค้างเพื่อปรับขนาด

ปรับตั้งค่า โดยเลือกรับค่ามาจาก Virtual Pin V1

กำหนดช่วงข้อมูลให้แสดงข้อมูลในช่วง 0-100 (จากเดิม 0-1023)

กำหนดชื่อ เปลี่ยนสี ตามความเหมาะสม

กด Run ให้ทำงาน

ฝั่ง kidBright IDE

เพิ่มโค้ดในส่วนการส่งค่าแสงจาก LDR ไปยัง Virtual Pin V1

ผลการทำงานคือค่าแสงที่อ่านได้จาก OpenKB หรือ kidBright จะส่งค่ามาแสดงที่แอพ Blynk อย่างต่อเนื่อง

ถ้าพลังงานยังเหลือ ลองรับส่งข้อมูลแบบต่างๆ จาก Widget ที่มีอย่างหลากหลายของ Blynk ดูนะครับ

Facebook Comments Box